ข่าวสาร
ไทยกำลังจะมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)
ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้เพื่อเก็บภาษี โดยกำหนดให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องจ่ายค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามหลักการของ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” โดยรัฐบาลสามารถกำหนดอัตราภาษีต่อหน่วยการปล่อย (ส่วนใหญ่จะคิดในหน่วย “ต่อตันคาร์บอน”) ซึ่งอาจจะเก็บจากการใช้ประโยชน์ต้นทาง เช่น การเก็บภาษีตามปริมาณคาร์บอนในน้ำมันเชื้อเพลิง (Carbon Tax) หรือเก็บจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของแหล่งปล่อย (Emission Tax) ก็ได้ ภาษีคาร์บอนเป็นกลไกที่หลายประเทศใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะประเทศที่มีความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก มีหลายประเทศที่โดดเด่นในการเก็บภาษีคาร์บอน เช่น
.
สวีเดน: เป็นหนึ่งในประเทศแรกที่นำภาษีคาร์บอนมาใช้ตั้งแต่ปีค.ศ. 1991 โดยปีค.ศ. 2023 อัตราภาษีคาร์บอนอยู่ที่ประมาณ 125 ดอลล่าร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ รายได้จากภาษีนี้ถูกนำไปลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและนวัตกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
.
สวิตเซอร์แลนด์: มีระบบภาษีคาร์บอนที่ยืดหยุ่น โดยเก็บภาษีจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ปัจจุบันมีอัตราประมาณ 130 ดอลล่าร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ รายได้ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในโครงการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานและการสนับสนุนพลังงานสะอาด
.
ญี่ปุ่น: เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในเอเชียที่เริ่มใช้นโยบายภาษีคาร์บอนในปีค.ศ. 2012 โดยเก็บภาษีจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีอัตราประมาณ 2 ดอลล่าร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์
.
โดยทั่วไปรูปแบบของการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนจะนําปริมาณคาร์บอนส่วนเกินมาคํานวณกับอัตราภาษีคาร์บอน ซึ่งแต่ละประเทศจะมีฐานภาษีที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะแบ่งประเภทของภาษีออกเป็น 2 แบบ คือ 1) ภาษีคาร์บอนทางตรง คือ เก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตสินค้าโดยตรง ซึ่งมักจะมีอัตราภาษีที่สูงกว่า เช่น การผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล การเผาไหม้ของเครื่องจักรในโรงงาน และ 2) ภาษีคาร์บอนทางอ้อม คือ เก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามการบริโภคแต่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง เช่น การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก อาทิ เหล็ก กระดาษ บรรจุภัณฑ์ หมึกพิมพ์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากภาษีคาร์บอนภายในประเทศแล้ว ปัจจุบันยังเกิดแนวคิดใหม่ Carbon Border Tax หรือ ภาษีคาร์บอนข้ามแดน เป็นภาษีนําเข้าสินค้า ที่เรียกเก็บจากประเทศที่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายภาษีคาร์บอน เท่ากับว่าผู้ประกอบการในประเทศไหนที่ไม่มีมาตรการทางภาษี สุดท้ายก็ต้องหันมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง หากต้องการค้าขายกับต่างประเทศที่ให้ความสําคัญในเรื่องบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
.
ประเทศไทยเองก็กำลังเตรียมใช้ “ภาษีคาร์บอน” เพื่อสร้างความตระหนัก (Awareness) ต่อสาธารณะเกี่ยวกับการใช้กลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับและเริ่มตระหนักถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ คาดว่าไทยจะเริ่มนำร่องมาตรการนี้ในปีพ.ศ. 2568 โดยกรมสรรพสามิตบริหารการจัดเก็บภาษีสรราสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทต่างๆ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าดและน้ำมันที่จุดให้แสงสว่างที่คล้ายกัน น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น น้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ซึ่งรวมถึงน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลผสมอยู่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ก๊าซโพรเพรน น้ำมันเตา เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้นกำหนดให้รวมกลไกราคาคาร์บอนในการปรับปรุงพิกัดอัตราภาษี โดยโครงสร้างการคำนวณภาษีคาร์บอนของสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จะพิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor: EF) ของสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน คูณกับราคาคาร์บอน (หน่วยบาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า) ออกมาเป็นอัตราภาษีคาร์บอน (หน่วยบาท/ลิตร) ที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บ ซึ่งอัตราการจัดเก็บภาษีคาร์บอนนี้จะใกล้เคียงกับอัตราภาษีสรรพสามิตปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกของสินค้าแต่อย่างใด ตลอดจนไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมและค่าครองชีพของประชาชน
Source:
กรมสรรพสามิต จากการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อรับฟังความคิดเห็น
แผนที่ Carbon Tax ทั่วโลก